จะซื้อผ้าปูที่นอน ดูที่จำนวนเส้นด้ายเท่านั้นหรือ?

14797 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จะซื้อผ้าปูที่นอน  ดูที่จำนวนเส้นด้ายเท่านั้นหรือ?

ในการเลือกซื้อผ้าปูที่นอน จำนวนเส้นด้ายต่อ 1 ตร.นิ้วช่วยให้เรารู้ว่า ผ้านั้นมีความหนาแน่นเพียงไรเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกหลายอย่างที่กำหนดคุณสมบัติของผ้าปูที่นอน เช่น

  ขนาดของเส้นด้ายที่ใช้ในการทอ
เส้นด้ายเกิดจากการนำเส้นใยหลายๆเส้นมารวมกัน โดยอาจจะปั่นเป็นเกลียวหรือไม่ก็ได้ แต่เส้นด้ายบางชนิด เช่น ใยสังเคราะห์เกิดจากการขึ้นรูปเป็นเส้นด้าย
ด้ายเส้นใหญ่ย่อมทำให้ผ้าหนา ไม่ทิ้งตัว แข็งแรง ในขณะที่ด้ายเส้นเล็กจะเนียน ละเอียด สัมผัสนุ่มกว่า

  ชนิดของเส้นใย
มีเส้นใยหลายชนิดที่นำมาปั่นเป็นเส้นด้ายเพื่อใช้ในการทอผ้า ทั้งใยธรรมชาติ เช่น ฝ้าย ไหม ป่าน ลินิน ขนสัตว์ต่างๆ และใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ ไมโครไฟเบอร์ เรยอน เป็นต้น เส้นใยแต่ละชนิดให้คุณสมบัติและสัมผัสที่แตกต่างกัน การเลือกใช้จึงขึ้นกับรสนิยมของผู้บริโภคด้วย แต่ที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องนอนทั่ว ๆ ไปคือ

  • ฝ้าย (Cotton) - เป็นใยที่ให้สัมผัสเป็นธรรมชาติ นุ่ม ทนทาน ระบายอากาศและความชื้นได้ดี เหมาะกับสภาวะอากาศของไทย ดูแลง่าย ราคาไม่สูงมาก จึงนิยมใช้กันทั่วไปตั้งแต่ในอดีต
  • ไมโครไฟเบอร์ (Microfibre) - เป็นใยสังเคราะห์ที่ให้ความลื่น เรียบ เนียน นุ่ม ไม่ยับง่าย แต่ต้องเอาใจใส่ดูแลขณะใช้งานและทำความสะอาด โดยเฉพาะไม่ควรซักและอบในอุณหภูมิสูง
  • เรยอน (Rayon) - สังเคราะห์โดยการย่อยวัสดุธรรมชาติเช่น ไผ่ ยูคาลิปตัส เศษฝ้าย แล้วนำมาขึ้นรูปเป็นเส้นใย จึงระบายอากาศ/ความชื้นได้ดี นุ่มนวล เรียบ เนียน บอบบาง และราคาค่อนข้างสูง
เราสามารถนำเส้นใยต่างชนิดมาจับคู่ทอผสมกันเพื่อเพิ่มจุดแข็งหรือลดจุดอ่อนของใยแต่ละชนิดได้ เช่น เส้นฝ้ายมาทอผสมกับใยไมโครไฟเบอร์ จะได้ผ้าที่มีคุณสมบัติลื่น เงา ซักแล้วไม่ต้องรีด และระบายอากาศ/ความชื้นได้ดีขึ้น

  วิธีการทอ
วิธีการทอผ้ามีผลต่อโครงสร้างผ้า วัตถุประสงค์การใช้ผ้าที่แตกต่างกัน เช่น ผ้าตัดเสื้อ ผ้าตัดกางเกง ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ จะใช้กรรมวิธีการทอที่แตกต่างกัน สำหรับเครื่องนอน ผู้บริโภคสามารถเลือกกรรมวิธีการทอต่าง ๆให้เหมาะกับความต้องการได้ เช่น
  • การทอขัด (Percale) – โครงสร้างผ้ายึดเกาะกันได้มั่นคง ทนต่อแรงกระชากได้ดี ทนทานต่อการใช้งานทุกชนิด
  • การทอลายสอง (Twill) – ผ้ามีความหนา แข็งแรง มีน้ำหนัก เงา และ ไม่ค่อยยับ
  • การทอแบบซาติน (Satin) – โครงสร้างผ้ายืดหยุ่นขึ้นมีผลให้เนื้อผ้าเงา นุ่ม น่าใช้
  • การทอแบบแจ็คการ์ด (Jacquard) – เป็นการทอแบบซาติน แต่สอดลวดลายเข้าไปในตัวผ้าที่เรียกว่าผ้าทอลาย ผ้าจึงมีมิติมากขึ้น


  การย้อมสีและพิมพ์ลาย
การย้อมผ้า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมากคือความคงทนของสีต่อการซัก ความร้อน และแสงแดด กรรมวิธีในการย้อมสีผ้าจึงมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดของเส้นใยที่ใช้ในการทอผ้านั้น ๆ เช่น ใยฝ้ายเหมาะกับการย้อมโดยใช้สีรีแอกทีฟ (Reactive dye) เพราะจะให้สีที่สดใส ติดทนนาน ผ้าไม่กระด้าง ในขณะที่เส้นใยสังเคราะห์ควรย้อมด้วยสีดิสเพอร์ส (Disperse dye)

ในการพิมพ์ผ้านอกจากข้อจำกัดเรื่องความคงทนของสีแล้ว ยังมีข้อจำกัดของจำนวนเฉดสี ในอดีตการพิมพ์แบบสกรีน (Flat screen printing) จะต้องทำแผ่นสกรีนตามจำนวนเฉดสีที่ใช้ ปาดสีลงบนแผ่นสกรีนที่วางอยู่บนผ้าที่พิมพ์ทีละสีจนกว่าจะครบตามจำนวนแผ่นสกรีนที่กำหนดไว้ ถ้าใช้เฉดสีมาก นอกจากใช้เวลามากแล้ว สีที่ปาดทับกันเคลือบอยู่บนผิวผ้า จะทำให้ผ้าแข็งกระด้างอีกด้วย ต่อมามีการพิมพ์แบบลูกกลิ้ง (Rotary screen printing) แทนแผ่นสกรีนประกอบกับเทคโนโลยีการใช้สี reactive ทำให้พิมพ์ผ้าได้สีสวย สีที่ใช้สามารถซึมเข้าไปในผ้า สัมผัสของผ้าจึงนุ่มนวลขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดการใช้เฉดสี (มักจะไม่เกิน 12 สี) ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้หมดไปด้วยการพิมพ์แบบอิ้งค์เจ็ท (Digital ink-jet printing) โดยคอมพิวเตอร์ควบคุมเครื่องพิมพ์ให้พ่นสีเป็นจุดที่มีขนาดเล็กมากในตำแหน่งที่กำหนด จุดเล็ก ๆ เหล่านี้จะประกอบกันเป็นลวดลายและสีตามที่ออกแบบไว้ (หลักการทำงานเช่นเดียวกับเครื่องพิมพ์ ink-jet สำหรับกระดาษที่เห็นอยู่ทั่วไป)

อย่างไรก็ตามในการพิมพ์ผ้าจากใยสังเคราะห์ 100% จะใช้แบบเปเปอร์ทรานส์เฟอร์ (Paper transfer printing) คือพิมพ์ลายบนกระดาษแล้วใช้ความร้อนถ่ายเทลายจากกระดาษลงบนผ้า

  กรรมวิธีการฟินิชชิ่ง
การฟินิชชิ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการผลิตผ้าหลังจากทอ ฟอก ย้อม พิมพ์ลาย ก่อนนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องนอน เพื่อทำให้ผ้ามีคุณสมบัติตามที่ต้องการ ซึ่งผู้ผลิตสามารถเลือกได้ว่าจะทำอะไรบ้าง ขั้นตอนนี้มีหลากหลายและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เช่น การทำให้ผ้านุ่มนวล การทำให้ผ้าไม่ยับ การขัดผ้าให้เงางาม การเคลือบกันน้ำ การทำให้สีย้อมติดคงทน การเคลือบเคมีกันไรฝุ่น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้